นูโวประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากอัลบั้มเปิดตัว เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิดเลย (2531) แกรมมี่สามารถปลุกกระแสศิลปินในรูปแบบของวงดนตรีแนวป๊อปขึ้นได้สำเร็จ หลังจากดันไมโครให้แจ้งเกิดในแนวร็อกมาแล้ว ต้องยอมรับว่าการแข่งขันด้านธุรกิจเทปเพลงในยุคนั้นถ้ามีต้นแบบแห่งความสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดการผลิตซ้ำโดยใช้สูตรที่มีคนนำร่องไปแล้ว อาร์เอสจึงดันวงเฟมออกมาเพื่อแชร์ตลาดในแบบที่ว่าหายใจรดต้นคอแกรมมี่กันเลยทีเดียว
ไกรสร ชำนาญเวช (v,g) (b.16 ก.ย. 2510)/ นัยณัฏฐ์ ชนินทร์เดช (v,k) (b.23 ต.ค. 2511)/ อนุสรณ์ ม้าแก้ว (b) (b.13 พ.ย. 2508)/ ภิญโญ เจริญสถิตพงศ์ (d) (b.12 พ.ย. 2511) ทั้งสี่คนรวมเล่นดนตรีในชื่อวง ปกเชิ้ต อยู่ที่ดรังเก้นผับ ต่อมาเปลี่ยนชื่อวงเป็น บอนด์สตรีท ต่อมานัยณัฏฐ์ได้มีโอกาสเล่นมิวสิควิดีโอเพลง 'ใจเดียว' ของวงเรนโบว์ เข้าตาฝ่ายสรรหาศิลปินของอาร์เอสซึ่งกำลังจะปั้นวงในรูปแบบของนูโวจึงลองให้ทั้งนัยณัฏฐ์และไกรสรมาเทสเสียงซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ และหาสมาชิกเพิ่มเข้ามาอีกสองคนคือ ธนา อักษรพันธ์ (g) (b.1 เม.ย. 2509) จากวงลาโคนิคส์ และ สรวิทย์ บัวศรี (k) (b.18 พ.ค. 2509) จากวงครอสโรด เพื่อให้วงมีความสมดุลย์เวลาที่ต้องแสดงสด
ชื่อวงเดิมบอนด์สตรีทถูกตีตกไป ฝ่ายครีเอทีฟระดมไอเดียตั้งชื่อวงใหม่มีทั้ง ปกเชิ้ต (ชื่อแรกของวง) วินเซนท์, อคูสติค, รีมิกซ์ สุดท้ายมาลงตัวที่ เฟม ซึ่งเป็นชื่อที่กระชับและจดจำง่าย และได้ อิทธิ พลางกูร มานั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ให้
คนไม่เคย อัลบั้มแรกของเฟมออกขายในเดือนพฤษภาคม 2532 ประสบความสำเร็จในระดับที่อาร์เอสพึงพอใจ ในแง่ของตัวงานต้องยอมรับกันว่าทั้งนูโวของแกรมมี่และเฟมของอาร์เอสไม่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตงานเอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางธุรกิจที่คงไม่มีค่ายเพลงใดอยากเสี่ยงที่จะให้วงหน้าใหม่ทำงานกันเอง มันเลยกลายเป็นข้อด้อยของวงในปลายยุคแปดศูนย์เมื่อนำไปเทียบกับวงรุ่นพี่ๆที่ทำงานกันเองได้ (ส่วนการประสบความสำเร็จด้านยอดขายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง) ดังนั้นเราจึงยังไม่ได้เห็นฝีมือการทำเพลงเองของวงเฟมว่าจะทำได้ดีเพียงไร ส่วนในเรื่องการแสดงสดพวกเขาทำได้ดีในระดับมืออาชีพ ตัดประเด็นอื่นทิ้งไป 'ไม่รักกันจริง' ก็เป็นเพลงป๊อปร็อกที่ไพเราะมาก เป็นลายเซ็นของอิทธิ พลางกูร ชัดเจนเพียงแค่เปลี่ยนคนร้องมาเป็นเสียงของไกรสร เฟมได้ออกผลงานชุดที่สอง ไอ้ตัวยุ่ง (2534) แต่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าชุดแรก
Comments
Post a Comment